คินสึงิ : มองความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องปกติ
3 มกราคม 2568 08:55 น.
เขียนโดย : เมธี ภู่ศรี

คินสึงิ – ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ
เดิมที คินสึงิ【金継ぎ】คือศิลปะการซ่อมแซมถ้วยชามภาชนะที่แตกบิ่นของชาวญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์สืบย้อนกลับไปได้นานกว่า 500 ปี
- คิน 【金】 แปลว่า ทอง
- สึงิ 【継ぎ】แปลว่า การแปะ, ติด, ต่อเข้าด้วยกัน
คินสึงิ จึงหมายถึงการปะติดปะต่อรอยร้าวของถ้วยชามด้วยทอง เป็นวิธีผสานรอยแตกร้าวให้ภาชนะนั้นให้กลับมามีฟังก์ชั่นใช้งานได้ใหม่ โดยนำยางไม้จากต้นอุรุชิของญี่ปุ่นมาผสมเข้าด้วยทอง ก่อนจะเชื่อมต่อไปยังรอยร้าวต่างๆ บนถ้วยชามภาชนะเพื่อยึดมันไว้ด้วยกันไม่ให้แตกร้าวไปมากกว่าเดิม
ทีนี้เมื่อกระบวนการซ่อมแซมเสร็จสิ้นลง เราจะพบเห็นรอยเส้นสีทองที่แตกกิ่งก้านแทรกซึมอยู่ทั่วจานชามภาชนะใบนั้น ซึ่งมันมอบ ‘เอกลักษณ์’ หนึ่งเดียวใบเดียวในโลก และความ ‘งดงาม’ แปลกตาที่ไม่สามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ (หรือเครื่องจักรในโรงงานปัจจุบัน) หากแต่ความงดงามแปลกตานี้จะเกิดขึ้นได้ การแตกหักแตกสลาย…ต้องเกิดขึ้นก่อน